ประวัติของการเดินทางสู่อวกาศ (History of Spaceflight)

2022-11-06

การเดินทางสู่อวกาศเริ่มต้นจากจรวด V2 ของเยอรมัน เมื่อปี 1944 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นวัตถุชิ้นแรกที่ขึ้นไปได้สูงเกิน 100 กิโลเมตร นำไปสู่การพัฒนาจรวด R7 ของสหภาพโซเวียตส่งสปุตนิก (Sputnik) ดาวเทียมดวงแรกของโลกสำเร็จเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 1957 ก่อนสหรัฐอเมริกาจะส่งดาวเทียม Explorer 1 ด้วยจรวด Juno 1 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 1958

สหภาพโซเวียตยังคงนำหน้าสหรัฐอเมริกาในการส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศและวงโคจรรอบโลก ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) เมื่อวันที่ 12 เมษายน 1961 แม้สหรัฐอเมริกาจะส่งอเมริกันคนแรกขึ้นสู่อวกาศ โดย อลัน เชปาร์ด (Alan Shepard) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1961 แต่ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ก่อนจะส่งอเมริกันคนแรกขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก โดย จอห์น เกลน (John Glenn) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1962

สหภาพโซเวียตไปถึงดวงจันทร์ก่อนด้วยยาน Luna 2 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 1959 ก่อนจะลงจอดด้วยยาน Luna 9 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 1966 ก่อนหน้าสหรัฐอเมริกาซึ่งไปถึงด้วยยาน Ranger 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1964 และลงจอดด้วยยาน Surveyor 1 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 1966

จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การส่งมนุษย์ไปถึงดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโล (Apollo) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งนีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) และบัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1969 ด้วยยานอะพอลโล 11 ในขณะที่โครงการซอนด์ (Zond) ของสหภาพโซเวียตล้มเหลวที่จะสร้างจรวดให้ใหญ่พอจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ได้ การแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาจึงสิ้นสุดลงราวปี 1972 พร้อมกับการสิ้นสุดลงของอะพอลโล 17 รวมส่งมนุษย์ไปถึงดวงจันทร์ 12 คน และไม่มีมนุษย์คนใดไปอีกจนถึงปัจจุบัน (2022)

ในช่วง 1960-1975 สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกายังแข่งกันสำรวจดาวศุกร์และดาวอังคาร ในชื่อ Venera และ Mars ของโซเวียต กับ Mariner และ Viking ของอเมริกา หลังจากนั้นมีเพียงนาซ่า (NASA: National Aeronautics and Space Administration) ของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้นำด้านอวกาศ ด้วยการส่งยานออกสำรวจดาวเคราะห์วงนอก ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวมฤตยู และดาวเกต ด้วยยานไพโอเนียร์ (Pioneer) 10-11 และวอเยเจอร์ (Voyager) 1-2

ทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกายังคงส่งมนุษย์ไปอวกาศ แต่ไปยังสถานีอวกาศที่อยู่ในวงโคจรใกล้โลกแทน เนื่องจากการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ทางฝั่งโซเวียตใช้ยานอวกาศโซยุซ (Soyuz) ในการเดินทางตั้งแต่ปี 1967 จนถึงปัจจุบัน (2022) รวม 147 ภารกิจ โดยใช้ชื่อและโครงสร้างคล้ายเดิม แต่มีการพัฒนาระบบและเปลี่ยนรุ่นอยู่หลายครั้ง โดยรุ่นล่าสุด Soyuz MS เริ่มใช้ในปี 2016 มีการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารให้ทันสมัยขึ้น ในขณะที่ทางฝั่งอเมริกาพัฒนากระสวยอวกาศ (Space Shuttle) โดยคาดหวังว่าจะเป็นยานพาหนะที่ใช้ซ้ำได้ ปลอดภัย และประหยัดเช่นเดียวกับเครื่องบิน กระสวยอวกาศออกเดินทางตั้งแต่ปี 1981 จนถึงปี 2011 รวม 135 ภารกิจ แต่เกิดอุบัติเหตุ 2 ครั้งในปี 1986 และปี 2003 คร่าชีวิตนักบินอวกาศทั้งลำ 7 คน ทั้ง 2 ครั้ง รวม 14 คน นับเป็นโครงการอวกาศที่มีการเสียชีวิตมากที่สุด จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 30 คนในอุบัติเหตุทางอวกาศ (14 คนจากกระสวยอวกาศ, 3 คนจากไฟไหม้ในอะพอลโล, 6 คนในการทดสอบอื่นของนาซ่า, 6 คนในโครงการทั้งหมดของโซเวียต และล่าสุด 1 คนจากเวอร์จิ้นกาแลกติกในปี 2014)

การยุติลงของโครงการกระสวยอวกาศ ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่มียานสำหรับส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศระหว่างปี 2011 จนถึงปี 2020 เมื่อยานดราก้อน (Dragon) ของบริษัทสเปซเอ๊กซ์ (SpaceX) ของสหรัฐอเมริกาสามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้อีกครั้ง

นอกจากรัสเซีย(สหภาพโซเวียต)และสหรัฐอเมริกาแล้ว มีเพียงจีนที่มียานอวกาศสำหรับมนุษย์ ในชื่อยานเฉินโจ (Shenzhou) ซึ่งเริ่มใช้ช่วงแรกระหว่างปี 2003-2016 เพียง 7 ครั้งในภารกิจเฉินโจ 5-11 ก่อนจะเริ่มใช้งานหลักเพื่อส่งมนุษย์ไปสถานีอวกาศเทียนกง (TSS: Tiangong Space Station) ปีละ 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปัจจุบัน (2022)

สถานีอวกาศเทียนกงเป็นหนึ่งในสองสถานีอวกาศที่ใช้การได้ในปัจจุบัน โดยอีกสถานีคือ สถานีอวกาศนานาชาติ ISS (International Space Station) มีคนอาศัยอยู่ตลอดตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2000 ภายใต้ความร่วมมือของแคนาดา,สหภาพยุโรป,ญี่ปุ่น,รัสเซียและสหรัฐอเมริกา ในสัดส่วนเงินทุนราว 2,5,5,12,60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การแข่งขันกันไปดวงจันทร์เริ่มต้นอีกครั้งเมื่อญี่ปุ่นส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี 1990 นับเป็นครั้งแรกหลังจาก 14 ปีที่ไม่มีการส่งยานไปดวงจันทร์เลยจากทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และอินเดีย เริ่มส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ แต่ยังไม่มีการลงจอด จนกระทั่งจีนส่งยานฉางเอ๋อ 3 (Chang'e 3) พร้อมรถหวี่ถู (Yutu) ไปแตะพื้นดวงจันทร์อีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2013 และยังคงเป็นประเทศเดียวที่มีรถสำรวจบนดวงจันทร์จนถึงปัจจุบัน (2022)

เช่นเดียวกับการสำรวจดวงจันทร์ การสำรวจดาวอังคารกลับมาอีกครั้งในปี 1996 หลังจากหยุดไปกว่า 21 ปี โดยสหรัฐอเมริกาส่งยาน Mars Global Surveyor ยานลงจอด Mars Pathfinder และรถสำรวจดาวอังคารคันแรก Sojourner ไปสำรวจในปี 1996 และยังคงส่งยานสำรวจอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว สหภาพยุโรป อินเดีย จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ส่งยานไปสำรวจด้วยเช่นกัน โดยในปี 2022 มีรถสำรวจที่ยังทำงานอยู่บนดาวอังคาร 3 คัน ได้แก่ คูริออซิตี (Curiosity) 2012 เพอร์เซเวอแรนซ์ (Perseverance) 2021 และจูหยง (Zhurong) 2021


ดูเพิ่ม

แหล่งที่มาภาพ.

  • A replica of Sputnik 1, NSSDC/NASA, 2006-09-02, Wikipedia Public Domain
  • Buzz Aldrin Apollo 11, NASA, 1969-07-21, Wikimedia Public Domain
  • Eugene Cernan at the LM Apollo 17, NASA, 1972-12-12, Wikimedia Public Domain
  • Space Shuttle Columbia STS-1, 1981-04-12, NASA, NASA Public Domain
  • International Space Station, NASA/Roscosmos, 2018-10-04, NASA Public Domain
  • Dragon, SpaceX, 2020-05-30, SpaceX
  • Yutu, Chinese Academy of Sciences, SCMP CAS
  • Perseverance and Ingenuity, NASA, 2021-04-07, NASA Public Domain