การสำรวจดาวอังคาร (Exploration of Mars)

2023-02-16

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 4 จากดวงอาทิตย์ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6,780 km (53% ของโลก) หนึ่งวันบนดาวอังคารยาว 24 ชั่วโมง 40 นาที นานกว่าโลกราว 3% หนึ่งปีบนดาวอังคารยาว 687 วัน หรือ 1.9 ปีของโลก แต่ละปีบนดาวอังคารมีฤดูกาลคล้ายโลกเนื่องจากแกนหมุนเอียง 25.2° เกือบเท่ากับ 23.4° ของโลก ด้วยระยะทางจากโลกที่ใกล้พอกับดาวศุกร์ และความคล้ายคลึงกับโลก ทำให้ดาวอังคารเป็นเป้าหมายหลักในการสำรวจของนาซ่า ตั้งแต่ปี 1996-2022

ดาวอังคารได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมากขึ้น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เริ่มจากเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์ขนาด 20 เซนติเมตร ใหญ่พอที่จะเห็นพื้นผิวบนดาวอังคารคร่าวๆ โดยจิโอวานิ ชิอาปาเรลลี (Giovanni Schiaparelli) ได้วาดภาพและใช้คำว่า"ร่อง" (channel) บนดาวอังคารในปี 1877 ต่อมาคำว่า"ร่อง"ถูกตีความเป็น"คลอง" (canal) ทำให้เริ่มมีการจินตนาการว่ามีมนุษย์ดาวอังคารขุดคลองส่งน้ำเหล่านี้ นำโดยนิยาย "The War of the Worlds" ของ H. G. Wells ในปี 1898 และ "A Princess of Mars" ของ Edgar Rice Burroughs ในปี 1912

1. การแข่งขันอวกาศระหว่างโซเวียตและอเมริกา (1971-1976)

การแข่งขันอวกาศเริ่มขึ้นเมื่อสหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมสปุตนิก (Sputnik) ได้เป็นครั้งแรกของโลก ในปี 1957 ก่อนสหรัฐอเมริกา เนื่องจากดาวอังคารและโลกมีคาบการโคจรที่ต่างกัน โลกจะโคจรเข้าใกล้ดาวอังคารทุกราว 26 เดือน ซึ่งมีเพียงช่วงเวลานี้ที่จะส่งยานสำรวจดาวอังคารได้ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ทั้งสองประเทศพยายามส่งยานไปโคจรรอบดาวอังคารในปี 1971 แต่รอบแรกทั้งคู่ล้มเหลว (Kosmos 419 และ Mariner 8) แต่ความพยายามอีกครั้งของทั้งคู่สำเร็จ (Mars 2, Mars 3 และ Mariner 9) โดย Mariner 9 ของสหรัฐอเมริกาไปถึงก่อนในวันที่ 14 พฤศจิกายน 1971 ตามด้วย Mars 2 ของสหภาพโซเวียตในวันที่ 27 พฤศจิกายน 1971 ตามหลังเพียง 13 วัน และ Mars 3 ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 ธันวาคม 1971 แต่ทำงานได้เพียง 14 วินาที ไม่ทันได้ส่งภาพกลับมา และยังคงเป็นยานเพียงลำเดียวของสหภาพโซเวียตที่ไปถึงพื้นผิวดาวอังคารจนถึงปัจจุบัน

ในปี 1973 สหภาพโซเวียตส่งยานโคจรและยานลงจอด 2 คู่ ได้แก่ Mars 4,5,6,7 แต่มีเพียง Mars 5 ที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพดาวอังคาร ส่วน Mars 6 และ Mars 7 แม้จะเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้ แต่ลงจอดล้มเหลว

ในปี 1975 สหรัฐอเมริกาส่งยานโคจรและยานลงจอด 2 คู่ เช่นเดียวกับสหภาพโซเวียต ได้แก่ Viking 1 และ Viking 2 ทั้งหมดประสบความสำเร็จ ถ่ายภาพจากพื้นผิวบนดาวอังคารได้เป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นพื้นทรายสีแดงที่แห้งแล้ง หมดยุคของนิยายที่จินตนาการว่าดาวอังคารเต็มไปด้วยน้ำ อย่างไรก็ตามผลการวัดสารเคมีจากยานไวกิ้งแสดงผลที่กำกวม เหมือนจะมีสารอินทรีย์บางอย่าง สร้างความสับสนว่าดาวอังคารอาจมีจุลินทรีย์ขนาดเล็ก จนกระทั่งยานฟีนิกซ์ (Phoenix) ยืนยันในปี 2008 ว่าสิ่งที่พบน่าจะเป็นการลุกไหม้ของสารเปอร์คลอเรต (ClO4-)

ปีสหภาพโซเวียตสหรัฐอเมริกา
ภารกิจวันที่ออกวันที่ถึงผลลัพธ์ภารกิจวันที่ออกวันที่ถึงผลลัพธ์
1971Kosmos 4191971-05-10ออกตัวล้มเหลวMariner 81971-05-09ออกตัวล้มเหลว
Mars 21971-05-191971-11-27เข้าสู่วงโคจรสำเร็จMariner 91971-05-301971-11-14เข้าสู่วงโคจรสำเร็จลำแรก
Mars 31971-05-281971-12-02ลงจอดสำเร็จลำแรก (14 วินาที)
1973Mars 4 orbiter1973-07-21ล้มเหลวViking 1 orbiter1975-08-201976-06-19สำเร็จ
Mars 5 orbiter1973-07-251974-02-12สำเร็จViking 1 lander1975-08-201976-07-20สำเร็จ
1975Mars 6 lander1973-08-05ล้มเหลวViking 2 orbiter1975-09-091976-08-07สำเร็จ
Mars 7 lander1973-08-09ล้มเหลวViking 2 lander1975-09-091976-09-03สำเร็จ

2. การสำรวจโดยนาซ่า (1988-1999)

หลังจากความสำเร็จของอะพอลโลและไวกิ้ง หลายคนคิดว่ามนุษย์จะไปสร้างบ้านบนดาวอังคารในทศวรรษหน้า แต่ความจริงไม่มียานสำรวจดาวอังคารแม้แต่ลำเดียวในช่วง 1977-1987 และการสำรวจในทศวรรษต่อมาก็เต็มไปด้วยความล้มเหลว ทั้งจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

แต่ในปี 1996-1997 นาซ่าประสบความสำเร็จในการลงจอดรถคันแรกบนดาวอังคาร ในชื่อรถโซเจอร์เนอร์ (Sojourner) กับยานลงจอดมาร์สพาธไฟน์เดอร์ (Mars Pathfinder) และยังมียานโคจรรอบดาวอังคาร Mars Global Surveyor ในปีเดียวกัน เปิดทางสู่การสำรวจดาวอังคารในทศวรรษหน้า

ยานอวกาศประเทศวันที่ออกเดินทางผลลัพธ์
Phobos 1รัสเซีย1988-07-07ล้มเหลว
Phobos 2รัสเซีย1988-07-12ถ่ายภาพสำเร็จ แต่ลงจอดล้มเหลว
Mars Observerสหรัฐอเมริกา1992-09-25ล้มเหลว
Mars Global Surveyorสหรัฐอเมริกา1996-11-07สำเร็จ (1997-09-11)
Mars 96รัสเซีย1996-11-16ล้มเหลว
Mars Pathfinderสหรัฐอเมริกา1996-12-04สำเร็จ (1997-07-04)
Sojournerสหรัฐอเมริกา1996-12-04รถคันแรกบนดาวอังคาร (1997-07-04)
Nozomiญี่ปุ่น1998-07-03ล้มเหลว
Mars Climate Orbiterสหรัฐอเมริกา1998-12-11ล้มเหลว
Mars Polar Landerสหรัฐอเมริกา1999-01-03ล้มเหลว
Deep Space 2สหรัฐอเมริกา1999-01-03ล้มเหลว

3. รถสำรวจดาวอังคาร (2001-2022)

ในสองทศวรรษนี้มีการส่งยานสำรวจดาวอังคารทุกรอบ 2 ปี เว้นเพียงปี 2009 โดยส่วนใหญ่เป็นยานจากสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ล้มเหลวอีกเลยตั้งแต่ปี 1999 และยังมียานจากนานาชาติ ได้แก่ สหภาพยุโรป รัสเซีย อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีนตามลำดับ

ยานโคจรรอบดาวอังคารหรือยานลงจอดที่อยู่นิ่งสามารถศึกษาดาวอังคารได้เช่นกัน แต่ความสนใจของสื่ออยู่ที่รถสำรวจ ซึ่งถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารได้ในหลากหลายภูมิประเทศ นำโดยสปิริต (Spirit) และ ออพพอจูนิตี (Opportunity) ในปี 2003 ที่ทำงานได้ถึงปี 2010 และปี 2018 ตามลำดับ แม้จะตั้งเป้าไว้เพียง 90 วัน เนื่องจากลมบนดาวอังคารช่วยพัดฝุ่นที่เกาะบนโซล่าเซลล์ออก ทำให้สามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์ได้ต่อ แต่สุดท้ายฝุ่นและพายุทรายที่หนาทึบจนมองเห็นได้จากโลก ก็ทำให้รถทั้งสองคันไม่มีพลังงานจะเดินต่อ

รถคูริออสิตี (Curiosity) ในปี 2011 ใช้พลังงานนิวเคลียร์ แตกต่างจากรถรุ่นก่อนหน้า จึงไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นเกาะโซล่าเซลล์ และยังใช้งานได้อยู่จนถึงปัจจุบัน คูริออซิตีกำลังสำรวจหลุมอุกกาบาตเกล (Gale crater) และภูเขาเอโอลิส (Aeolis mons/Mount Sharp) และยืนยันว่าบริเวณนี้เคยมีน้ำท่วมในอดีต

รถเพอเซเวอแรนซ์ (Perseverance) ออกเดินทางปี 2020 เป็นรถซึ่งใช้ตัวถังเดียวกับคูริออสิติ แต่เน้นไปที่การขุดและเก็บตัวอย่างหินเพื่อนำกลับมายังโลกราวปี 2030 เพอเซเวอแรนซ์กำลังสำรวจบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำซึ่งเคยไหลลงหลุมอุกกายาตเยเซโร (Jezero crater) นอกจากการสำรวจแล้วยังมีการทดสอบเฮลิคอปเตอร์บนดาวอังคารเป็นครั้งแรก ในชื่ออินจินิวตี (Ingenuity) ซึ่งสำเร็จไปด้วยดี และยานเก็บตัวอย่างหินที่คาดว่าจะออกเดินทางในปี 2026 จะมีเฮลิคอปเตอร์ไปด้วย 2 ลำ

นอกจากนาซ่าของสหรัฐอเมริกาแล้ว อีซ่าของสหภาพยุโรปสามารถส่งยานไปโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จทั้ง 2 ครั้งจาก 2 ครั้ง แต่ความพยายามลงจอดนั้นล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกยาน Beagle 2 ซึ่งพัฒนาร่วมกับอังกฤษลงจอดสำเร็จ แต่กางแผงโซล่าเซลล์ติดขัด ทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้ ส่วนครั้งหลังยาน Schiaparelli ซึ่งพัฒนาร่วมกับรัสเซีย ลงจอดกระแทกพื้น

อินเดียเป็นประเทศที่ 4 ที่ไปถึงดาวอังคารด้วยมังคลายาน (Mangalyaan) ในปี 2013 แซงหน้าจีนที่ส่งยานอิงฮัว (Yinghuo 1) ในปี 2011 ไปพร้อมกับจรวดรัสเซียแต่ล้มเหลวในการออกตัว ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่ 5 ในปี 2020 ไปถึงก่อนหน้าจีนเพียงวันเดียว จีนส่งยานไปดาวอังคารเองครั้งแรกในปี 2020 ในชื่อเทียนเหวิน 1 (Tianwen 1) โดยมีทั้งยานโคจร ลงจอด และรถในครั้งแรก และประสบความสำเร็จในการส่งรถสำรวจดาวอังคารจูหยง (Zhurong) เป็นประเทศเดียวนอกจากสหรัฐอเมริกา

ในปี 2022 สหภาพยุโรปมีแผนจะส่งรถสำรวจดาวอังคารโรซาลินด์แฟรงคลิน (Rosalind Franklin) โดยใช้จรวดและยานลงจอดร่วมกับรัสเซีย แต่ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย แม้การสำรวจดาวอังคารจะไม่ได้ลดลงมากนัก แต่ในปี 2023 นาซ่าหันไปเน้นการส่งยานสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งหลังจากปี 1972

ยานอวกาศประเทศประเภทวันที่ออกเดินทางวันที่ถึงดาวอังคาร
Mars Odyssey อเมริกายานโคจร2001-04-072001-10-24
Mars Express ยุโรปยานโคจร2003-06-022003-12-25
Beagle 2 ยุโรป/อังกฤษยานลงจอด2003-06-02ลงจอดสำเร็จ แต่การสื่อสารล้มเหลว
Spiritอเมริการถ2003-06-102004-01-04
Opportunityอเมริการถ2003-07-082004-01-25
Mars Reconnaissance Orbiter อเมริกายานโคจร2005-08-122006-03-10
Phoenix อเมริกายานลงจอด2007-08-042008-05-25
Fobos-Grunt รัสเซียยานโคจร2011-11-08ออกตัวล้มเหลว
Yinghuo 1 รัสเซีย/จีนยานโคจร2011-11-08ออกตัวล้มเหลว
Curiosityอเมริการถ2011-11-262012-08-06
Mangalyaanอินเดียยานโคจร2013-11-052014-09-24
MAVEN อเมริกายานโคจร2013-11-182014-09-22
ExoMars Trace Gas Orbiter ยุโรป/รัสเซียยานโคจร2016-03-142016-10-19
Schiaparelli EDM lander ยุโรป/รัสเซียยานลงจอด2016-03-14ลงจอดล้มเหลว
InSight อเมริกายานลงจอด2018-05-052018-11-26
Hopeเอมิเรตส์ยานโคจร2020-07-192021-02-09
Tianwen 1จีนยานโคจร2020-07-232021-02-10
Zhurongจีนรถ2020-07-232021-05-14
Perseveranceอเมริการถ2020-07-302021-02-18
Ingenuityอเมริกาเฮลิคอปเคอร์2020-07-302021-04-04

4. โครงการในอนาคต (2024-2030)

เพอเซเวอแรนซ์นับก้าวแรกของการขุดหินดาวอังคารกลับมายังโลก ซึ่งจะตามไปด้วยภารกิจในปี 2026 ในชื่อชั่วคราวว่า Mars Sample Return ซึ่งจะนำตัวอย่างหินจากเพอเซเวอแรนซ์ใส่จรวดยิงจากพื้นดาวอังคารกลับมายังโลกเป็นครั้งแรก ทั้งนี้กว่าจะเสร็จทุกขั้นตอนนำหินกลับมาถึงโลกคาดว่าจะอยู่ราวปี 2035 แต่จีนเผยแผนนำหินดาวอังคารกลับมาก่อน โดยจะส่งยานจากโลกในปี 2028 และกลับถึงโลกในปี 2031 ในชื่อโครงการเทียนเหวิน 3 (Tianwen 3)

ญี่ปุ่นก็วางแผนที่จะนำหินจากดาวอังคารกลับมายังโลกเช่นกัน แต่เป็นหินจากดวงจันทร์ของดาวอังคาร ในชื่อโครงการ MMX ตั้งเป้าออกเดินทางปี 2024 โดยพัฒนามาจากความสำเร็จของการเก็บหินจากดาวเคราะห์น้อยของยานฮายาบุสะ (Hayabusa) ในปี 2010 ส่วนอินเดียก็ต้องการจะส่งมังคลายาน 2 (Mangalyaan 2) ไปโคจรรอบดาวอังคาร แต่ยังไม่มีกำหนดการที่แน่ชัด

โครงการใหญ่ในการสำรวจดาวอังคารในทศวรรษหน้าเป็นของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ด้วยยานสตาร์ชิป (Starship) ตั้งเป้าสร้างเมืองบนดาวอังคาร โดยในช่วงปี 2012 เคยมีหลายบริษัทที่ขายฝันในการสร้างเมืองบนดาวอังคาร รวมถึงสเปซเอ็กซ์ที่เคยหวังว่าจะส่งมนุษย์ไปดาวอังคารในปี 2020 ด้วยยานเรดดราก้อน (Red Dragon) แม้หลายบริษัทจะยุติโครงการไปแล้ว แต่ปัจจุบันสตาร์ชิปเริ่มทดสอบเครื่องยนต์แล้ว เตรียมที่จะทดสอบบินขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี 2023 นี้ แต่ยังเหลืออีกหลายขั้นตอน เช่น การลงจอด การเติมเชื้อเพลิงในอวกาศ การผลิตเชื้อเพลิงบนดาวอังคาร รวมถึงการไปดวงจันทร์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปี 2026 เป็นอย่างเร็ว

ปีที่คาดประเทศยานอวกาศ
2024ญี่ปุ่นMMX
2024อเมริกาEscapade
2026อเมริกาMars sample return
2026อเมริกาStarship
2026อินเดียMangalyaan 2
2028จีนTianwen 3
2030?ยุโรปRosalind Franklin

ดูเพิ่ม

แหล่งที่มาภาพ.

  • Viking orbiter global color views of Mars, Viking, 1998-06-08, NASA Public Domain
  • Mars map, Viking, 2014-03-06, USGS Public Domain
  • Three Generations of Rovers in Mars Yard, 2012-01-17, NASA Public Domain
  • Mars Pathfinder and Sojourner, 1997-07-21, NASA Public Domain
  • Opportunity Artist's Concept, 2003-02-26, NASA Public Domain
  • Curiosity 360 degree view at Mont Mercou, 2021-03-30, NASA Public Domain
  • Perseverance and Ingenuity, 2021-04-07, NASA Public Domain
  • Zhurong, 2021-06-11, CNSA Unknown License
  • Mangalyaan 2000 rupee banknote, Reserve Bank of India, 2016, Wikimedia India Government Open Data License
  • Mount Sharp (Aeolis Mons), Curiosity, 2015-09-09, NASA Public Domain