ดาวฤกษ์ (Stars)

2023-02-09

ดาวฤกษ์ เป็นกลุ่มก๊าซที่มีมวลมากจนเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์หลอมรวม ร้อนจนปล่อยแสงสว่างออกมา

ดาวฤกษ์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีทั้งหมด 9,095 ดวง ดาวเหล่านี้ไม่ได้กระจายสุ่มอยู่บนท้องฟ้า แต่กระจุกตัวอยู่ในแถบทางช้างเผือก สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของดาราจักรทางช้างเผือก (Milkyway galaxy) ที่เป็นเหมือนแผ่นจาน

ระบบดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด คือ ระบบดาวอัลฟาเซนทอรี (Alpha Centauri) ซึ่งอยู่ห่างออกไป 4.3 ปีแสง หรือ 40 ล้านล้านกิโลเมตร ประกอบด้วยดาวฤกษ์ 3 ดวง ไก้แก่ เอ (A), บี (B), ซี (C) หรือ พรอกซิม่า (Proxima) โดยเอและบีเป็นดาวฤกษ์แคระเหลืองเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ โคจรรอบกันด้วยคาบ 79 ปี ส่วนพรอกซิม่าเป็นดาวฤกษ์แคระแดง เล็กเพียง 12% ของดวงอาทิตย์ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โคจรด้วยคาบราว 550,000 ปี

นอกจากดาวฤกษ์แล้ว อวกาศยังมีกลุ่มก๊าซระหว่างดวงดาว (Interstellar medium) ซึ่งอาจดูดกลืนหรือเปล่งแสงเป็นรูปร่างต่างๆ เมื่อมองจากโลก เรียกว่า เนบิวล่า (Nebula) มีทั้งที่เกิดจากดาวที่กำลังเกิด เช่น เนบิวล่าโอไรอัน (M42 Orion Nebula) หรือซากจากดาวที่ดับลง เช่น เนบิวล่าปู (M1 Crab Nebula) ซึ่งเกิดจากซูเปอร์โนวาเมื่อปี 1054

ดาราจักร (Galaxy) เคยถูกจัดเป็นเนบิวล่า จนกระทั่งปี 1925 เมื่อเอดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) สามารถวัดระยะทางของดาราจักรแอนโดรมีดา (Andromeda galaxy) ว่าอยู่ไกลถึง 2.5 ล้านปีแสง ไกลกว่าวัตถุอื่นในดาราจักรทางช้างเผือกซึ่งมีขนาดเพียง 88,000 ปีแสง ดาราจักรแอนโดรมีดาเป็นดาราจักรขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ดาราจักรทางช้างเผือกที่สุด และมีดาราจักรขนาดเล็ก 2 แห่งที่ใกล้กว่า คือ เมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) และ เมฆแมกเจลแลนเล็ก (Small Magellanic Cloud) ที่ระยะ 160,000 ปีแสง และ 200,000 ปีแสง

ดวงอาทิตย์และดาวอีกราวแสนล้านดวงกำลังโคจรรอบใจกลางดาราจักรทางช้างเผือก ซึ่งอยู่ที่ระยะ 26,000 ปีแสง ทางกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagitarrius) ใจกลางนี้เป็นหลุมดำขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเรียกว่า หลุมดำซากิทาเรียส เอ สตาร์ (Sagitarrius A*) แม้หลุมดำเองจะไม่มีแสง แต่ที่ขอบของหลุมดำเต็มไปด้วยวัตถุที่วิ่งด้วยความเร็วสูงจึงแผ่คลื่นวิทยุออกมา สามารถถ่ายภาพด้วยคลื่นวิทยุได้เป็นครั้งแรกในปี 2022

ดาราจักรที่อยู่ใกล้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ทางกลุ่มดาวกันย์ (Virgo) เรียกว่า กระจุกดาราจักรกันย์ (Virgo cluster) อยู่ห่างออกไปราว 54 ล้านปีแสง ประกอบด้วยกว่า 1,000 ดาราจักร ปัจจุบันพบกระจุกดาราจักรที่อยู่ใกล้กับโลกกว่า 4,000 กลุ่มในระยะ 2,000 ล้านปีแสง ซึ่งถูกเริ่มรวบรวมไว้ใน Abell catalog เมื่อปี 1958 และคาดว่ามีกระจุกดาราจักรราว 100 ล้านกลุ่มในจักรวาลที่มองเห็นได้


ดูเพิ่ม

แหล่งที่มาภาพ.

  • Milky way galaxy, European Southern Observatory/S. Brunier, 2009-09-14, ESO CC-BY
  • Proxima Centauri, ESA/Hubble, 2013-10-28, ESA Hubble CC-BY-SA
  • Orion nebula, NASA/ESA/Hubble, 2006-01-11, Wikipedia Public Domain
  • Crab nebula, NASA/ESA/Hubble, 2005-12-01, Wikipedia CC-BY-SA
  • Crab nebula, NASA(Very Large Array,Spitzer,Hubble,XMM-Newton,Chandra), 2017-05-10, JPL.NASA Public Domain
  • Saggitarius A*, European Southern Observatory/Event Horizon Telescope Collaboration, 2022-05-12, ESO CC-BY
  • Black Hole Accretion Disk Visualization, NASA Goddard Space Flight Center, 2019-09-25, GSFC.NASA Public Domain
  • Andromeda Galaxy, David (Deddy) Dayag, July 2019-07-09, Wikimedia CC-BY-SA
  • Virgo Cluster, European Southern Observatory/Chris Mihos, 2009-05-20, ESO CC-BY