ดาวเคราะห์น้อย (Asteroids/Minor planets)

2023-02-08

ดาวเคราะห์น้อย คือ วัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 เมตร แต่ไม่ใหญ่พอที่จะเป็นดาวเคราะห์ ประมาณ 4,000 กิโลเมตร

ปัจจุบันมีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยมากกว่า 1 ล้านดวง ส่วนใหญ่อยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก (Asteroid belt) ซึ่งอยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสที่ระยะ 2.0-3.3 AU หรือ 300-500 ล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ แม้แถบดาวเคราะห์น้อยหลักจะมีความหนาแน่นสูงกว่าบริเวณอื่น แต่ก็มีดาวเคราะห์น้อยเฉลี่ยเพียง 1 ดวงต่อระยะทาง 500,000 กิโลเมตร ยานอวกาศสามารถบินผ่านแถบดาวเคราะห์น้อยได้ หากบินแบบสุ่มโอกาสชนนั้นยังน้อยกว่าการโยนลูกเต๋าได้หน้าเดียวกัน 8 ครั้งติดต่อกัน ในความเป็นจริงยานสำรวจมักพยายามบินเข้าหาดาวเคราะห์น้อยเพื่อถ่ายภาพระหว่างทาง เช่น ยานกาลิเลโอบินผ่านดาวเคราะห์น้อยไอดา (Ida) ในระยะ 2,400 กิโลเมตร ก่อนจะไปสำรวจดาวพฤหัส

แถบดาวเคราะห์น้อยหลักมีดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่เกิน 100 กิโลเมตร ราว 200 ดวง 4 ดวงแรกถูกค้นพบในปี 1801-1807 ได้แก่ ซีเรส (Ceres) พาลลาส (Pallas) จูโน (Juno) เวสตา (Vesta) เคยถูกจัดเป็นดาวเคราะห์ในช่วงปี 1801-1850 ก่อนที่จะค้นพบว่ามีวัตถุอีกจำนวนมากในบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก เช่นเดียวกับกรณีของพลูโต (Pluto) ซึ่งเคยถูกจัดเป็นดาวเคราะห์ในช่วงปี 1930-2005 ก่อนที่จะค้นพบว่ามีแถบดาวเคราะห์น้อยบริเวณดาวเกต มีชื่อเรียกว่า แถบไคเปอร์ (Kuiper belt) และค้นพบดาวเอริส (Eris) ซึ่งมีมวลมากกว่าพลูโตในปี 2005

ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่มีมวลมากพอที่จะเป็นทรงกลม จึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า ดาวเคราะห์แคระ (Dwarf planets) ซึ่งมีขนาด 900 - 2,400 กิโลเมตร ปัจจุบันยังไม่มีเงื่อนไขมวลที่ชัดเจน มีเพียง 5 ดวง ได้แก่ ซีเรส (Ceres), พลูโต (Pluto), เอริส (Eris), เฮาเมีย (Haumea), มาเกะมาเกะ (Makemake) ที่ถูกจัดเป็นดาวเคราะห์แคระอย่างเป็นทางการโดยสมาคมดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) และมีอีก 4 ดวง ได้แก่ ควออา (Quaoar), เซดน่า (Sedna), ออคัส (Orcus), กองกอง (Gonggong) ที่น่าจะนับว่าเป็นดาวเคราะห์แคระเช่นกัน

ดาวเคราะห์น้อยประเภทหนึ่ง มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ดาวหาง (Comets) จากลักษณะที่มีไอน้ำพุ่งออกมาเป็นทางยาว เนื่องจากความร้อนจากดวงอาทิตย์ ปัจจุบันรายชื่อดาวหางมีกว่า 4,000 ดวง แต่ดาวหางที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีเพียงประมาณ 1 ดวงต่อทศวรรษ บางดวงโคจรเข้ามาเพียงครั้งเดียวและถูกเหวี่ยงออกไปนอกระบบสุริยะ แต่บางส่วนราว 400 ดวงมีคาบการโคจรตั้งแต่ 3 ปีถึงหลายร้อยปี วงโคจรของดาวหางถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยเอดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmund Halley) ในปี 1705 และทำนายว่าดาวหางจะกลับมาในปี 1759 ได้อย่างถูกต้อง ดาวหางนี้จึงเป็นดาวหางดวงแรก ที่ถูกตั้งชื่อว่า ดาวหางฮัลเลย์

ยานโรเซตตา (Rosetta) จากสหภาพยุโรปได้ลงจอดบนดาวหางเป็นครั้งแรกของโลกในปี 2014 บนดาวหางชูริวมอฟ-เกราสิเมนโค (Churyumov-Gerasimenko) ขนาดราว 4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นดาวหางเพียงดวงเดียวที่มีภาพความละเอียดสูงในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการสำรวจดาวเคราะห์น้อยอื่นๆ พบว่า บางดวงก็มีน้ำแข็งปกคลุมและมีลักษณะคล้ายคลึงกับดาวหาง เพียงแต่ไม่ได้โคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากพอที่จะทำให้เห็นไอน้ำเป็นหาง และดาวหางบางดวงที่เคยมีน้ำแข็งก็ระเหิดไปหมดหลังจากผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้นิยามความแตกต่างระหว่างดาวหางกับดาวเคราะห์น้อยอื่นนั้นยังไม่ชัดเจนในปัจจุบัน

ดาวเคราะห์น้อยที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก เรียกว่า ดาวตก (Meteors) หากตกลงมาถึงพื้นโลกจะเรียกว่า อุกกาบาต (Meteorites) คำเหล่านี้จึงอาจถูกใช้ปนกันสำหรับดาวเคราะห์น้อยที่อาจชนโลก ดาวตกสว่างขึ้นเป็นเวลาไม่กี่วินาทีจากความร้อนที่ปะทะกับบรรยากาศของโลก ดาวตกขนาดเล็กกว่า 1 เมตร ถูกพบมากกว่าวันละครั้ง ดาวตกขนาด 4 เมตรผ่านเข้ามายังโลกเฉลี่ยปีละครั้ง แต่ดาวตกขนาด 20 เมตรมีเพียง 1 ครั้งตลอด 30 ปีที่มีการติดตามตั้งแต่ปี 1988 ถูกตั้งชื่อว่าดาวตก Chelyabinsk ตามชื่อเมืองที่ตกในประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013 แม้จะเผาไหม้หมดที่ความสูงราว 30 กิโลเมตร และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่แรงระเบิดนั้นทำให้กระจกแตกส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 1,491 คน

ความกังวลว่าอุกกาบาตขนาดใหญ่จะทำลายมนุษยชาติ เริ่มขึ้นราวปี 1980 จากการค้นพบว่ามีอุกกาบาตขนาดใหญ่ชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน และอาจเป็นเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ซึ่งต่อมาพบว่าอุกกาบาตนี้มีขนาดราว 10 กิโลเมตรตกบริเวณ Chicxulub ในประเทศเม็กซิโก ในช่วง 1998-2008 มีการใช้กล้องโทรทรรศน์สำรวจดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกอย่างจริงจัง และพบดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกขนาดเกินกิโลเมตรทั้งหมดราว 900 ดวง ซึ่งไม่มีดวงใดที่จะชนโลกภายในพันปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามดาวเคราะห์น้อยขนาดเกิน 140 เมตร แม้จะไม่ทำลายมนุษยชาติ แต่ก็สามารถทำลายเมืองเป็นรัศมีราว 1 กิโลเมตรได้ ในปี 2022 ยังมีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกอย่างต่อเนื่อง โดยขนาด 140-1,000 เมตร พบแล้วราว 10,000 ดวง จากคาดการณ์ทั้งหมด 27,000 ดวง และขนาด 20-140 เมตรพบแล้วราว 20,000 ดวง จากคาดการณ์ทั้งหมด 800,000 ดวง


ดูเพิ่ม

แหล่งที่มาภาพ.

  • Asteroid belt, Ananya Photonics, 2023-02-07, Minor Planet Center/IAU Public Domain
  • Ceres, NASA/JPL-Caltech/UCLA/MPS/DLR/IDA/Justin Cowart, 2015-10-21, Wikimedia Public Domain
  • Vesta, NASA/JPL/MPS/DLR/IDA/Bjorn Jonsson, 2011-07-24, Wikimedia Public Domain
  • Eros, NASA/JPL/JHUAPL/NEAR Shoemaker, 2000-06-10, NASA Public Domain
  • Itokawa, ISAS/JAXA/Hayabusa, 2005-12-28, Wikimedia CC-BY
  • Bennu, NASA/Goddard/University of Arizona/Osiris-rex, 2018-12-11, NASA Public Domain
  • Pluto, NASA/New Horizons, 2015-07-14, NASA Public Domain
  • 1P/Halley, NASA/ESA/Giotto, 1986-03-14, NASA Public Domain
  • 67P/Churyumov-Gerasimenko, ESA/Rosetta, 2015-01-13, Astro4edu CC-BY-SA
  • Meteor over Chelyabinsk, Aleksandr Ivanov, 2013-02-15, Wikimedia CC-BY