ระบบสุริยะ (Solar System)

2022-11-12

ระบบสุริยะ คือ ดวงอาทิตย์(สุริยะ/Sun/Solar)และวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ภายใต้แรงโน้มถ่วง

ดวงอาทิตย์มีมวลราว 2×1030 กิโลกรัม คิดเป็น 99.86% ของระบบสุริยะ ส่วนที่เหลือ 0.14% แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ดาวเคราะห์ 8 ดวง, ดาวบริวารของดาวเคราะห์เหล่านั้น, ดาวเคราะห์น้อย

ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ (Star) เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะ และมีเพียง 10 ระบบดาวฤกษ์ที่อยู่ในรัศมี 11 ปีแสง โดยระบบดาวฤกษ์ที่ใกล้ที่สุด คือ อัลฟา เซนทอรี (Alpha Centauri) อยู่ห่างไปราว 4.3 ปีแสง คิดเป็น 40 ล้านล้านกิโลเมตร

ดวงอาทิตย์มีผิวแสงที่รัศมีประมาณ 7 แสนกิโลเมตร แต่ก๊าซจากดวงอาทิตย์ซึ่งเรียกว่า ลมสุริยะ (Solar Wind) ถูกพัดออกไปไกลถึงราว 80 AU หรือ 12,000 ล้านกิโลเมตร ก่อนจะปะทะกับก๊าซระหว่างดวงดาว ส่วนสนามโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์แผ่ออกไปถึงราว 1 ปีแสง หรือ 60,000 AU หรือ 90 ล้านล้านกิโลเมตร ซึ่งอาจมีเศษหินและน้ำแข็งโคจรออยู่

ดาวเคราะห์ 8 ดวง ได้แก่ พุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัส เสาร์ มฤตยู เกต เรียงตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ดาวเคราะห์วงใน ได้แก่ พุธ ศุกร์ โลก อังคาร มีขนาดเล็กกว่า 13,000 กิโลเมตร องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นหิน และดาวเคราะห์วงนอก ได้แก่ พฤหัส เสาร์ มฤตยู เกต มีขนาดใหญ่กว่า 40,000 กิโลเมตร องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียม

1. ดาวพุธ (Mercury) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ราว 0.4 AU หรือ 58 ล้านกิโลเมตร จึงโดนลมสุริยะพัดไม่เหลือบรรยากาศรอบดาว ทำให้อุณหภูมิด้านที่โดนแสงอาทิตย์ร้อน 430°C แต่ลดลงเหลือ -170°C ในตอนกลางคืน

2. ดาวศุกร์ (Venus) เป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนที่สุด ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ย 460°C ภายใต้บรรยากาศที่หนาแน่นด้วยคาร์บอนไดออกไซด์และมีเมฆซัลฟิวริกสีเหลืองทึบแสง มองไม่เห็นผิวดาว

3. โลก (Earth) เป็นดาวเคราะห์ที่มนุษย์อาศัยอยู่ ห่างจากดวงอาทิตย์ 1.0 AU หรือ 150 ล้านกิโลเมตร มีบรรยากาศที่ประกอบด้วยไนโตรเจนและอ๊อกซิเจนเป็นส่วนใหญ่และเมฆจากไอน้ำ ด้วยอุณหภูมิและความดันที่เหมาะสมทำให้โลกเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่มีน้ำบนผิวดาวและมีสิ่งมีชีวิตอยู่

4. ดาวอังคาร (Mars) เป็นดาวเคราะห์ที่มียานไปสำรวจมากที่สุด ดาวอังคารมีสีแดงจากสนิมเหล็ก อยู่ไกลจากโลกมากกว่าดาวศุกร์เล็กน้อย มีบรรยากาศคาร์บอนไดออกไซด์ที่เบาบางประมาณ 1% ของโลก ทำให้กลางคืนในฤดูหนาวมีอุณหภูมิต่ำถึง -110°C แต่กลางวันในฤดูร้อนมีอุณหภูมิราว 35°C พอเหมาะในการใช้หุ่นยนต์สำรวจ

5. ดาวพฤหัส (Jupiter) เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดด้วยขนาด 140,000 กิโลเมตร มีเมฆแถบสีขาวสลับส้มหมุนวน และมีพายุสีแดงยักษ์ขนาดราว 20,000 กิโลเมตร ดาวพฤหัสอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ราว 5.2 AU หรือ 780 ล้านกิโลเมตร ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ไปถึงน้อยกว่าความร้อนที่แผ่ออกมาจากดาวพฤหัส มีดาวบริวารหลัก 4 ดวง เรียกว่าดาวบริวารกาลิเลียน ได้แก่ ไอโอ, ยูโรปา, กานีมีด และ คาลิสโต

6. ดาวเสาร์ (Saturn) เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนโคจรอยูู่รอบ ที่ระยะ 7,000 ถึง 80,000 กิโลเมตร จากผิวดาวเสาร์ขนาด 120,000 กิโลเมตร วงแหวนมีความหนาเพียง 1 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นก้อนน้ำแข็งขนาดไม่ถึงสิบเมตร ดาวเสาร์มีดาวบริวารขนาดใหญ่กว่า 300 กิโลเมตร 7 ดวง ได้แก่ มิมัส, เอนเซลาดัส, เททิส, ไดโอเน่, รีอา, ไททัน และ อิปปาตัส

7. ดาวมฤตยู (Uranus) เป็นดาวเคราะห์ที่หมุนตะแคงข้าง โดยแกนหมุนรอบตัวเองทำมุม 98° กับระนาบโคจร และเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์ในปี 1781 แม้จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ดาวมฤตยูเคลื่อนที่ช้าจนดูเหมือนดาวฤกษ์

8. ดาวเกต (Neptune) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลที่สุด ราว 30 AU หรือ 4,500 ล้านกิโลเมตร มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ถูกค้นพบเมื่อปี 1846 จากการคำนวณแรงโน้มถ่วงที่ส่งผลต่อวงโคจรของดาวมฤตยู

ดาวเคราะห์น้อย (Minor planets) มีกระจัดกระจายทั่วระบบสุริยะ บริเวณวงโคจรของโลกมีราว 900 ดวงที่มีขนาดเกินกิโลเมตร (คิดเป็นระยะห่างเฉลี่ย 11 ล้านกิโลเมตร) แต่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัส บริเวณ 2.0-3.3 AU มีแถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid belt) ซึ่งมีดาวเคราะห์น้อยราว 1-2 ล้านดวงที่ใหญ่เกินกิโลเมตร แม้จะหนาแน่นกว่าบริเวณอื่น แต่ระยะห่างเฉลี่ยยังคิดเป็นกว่า 500,000 กิโลเมตร ห่างมากกว่าโลกกับดวงจันทร์
นอกวงโคจรของดาวเกต บริเวณ 30-50 AU ยังมีแถบดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อเรียกว่า แถบไคเปอร์ (Kuiper belt) มีดาวเคราะห์แคระ (Dwarf planets) หลายดวง เช่น พลูโต, เฮาเม, มาเกะมาเกะ และคาดว่ามีดาวเคราะห์น้อยอีกหลายล้านดวงที่ขนาดเกินกิโลเมตรในบริเวณนี้


ดูเพิ่ม

แหล่งที่มาภาพ.

  • Solar system, NASA Public Domain
  • Sun, NASA/GSFC/SDO, 2018-12-24, NASA Public Domain
  • Terrestrial Planet Sizes, NASA/Lunar and Planetary Institute, 2003-10-24, NASA Public Domain
  • Grand tour of the outer solar system, NASA/ESA/Hubble, 2021-11-18, Hubble CC-BY
  • Nearest stars, Ananya Photonics, 2023-01-31, Wikipedia Public Domain